วิสุทธิมรรค กรรมฐาน ๔๐ กอง


วิสุทธิมรรค กรรมฐาน ๔๐ กอง

วิสุทธิมรรค ภาคสมาธิ

1. สมาธิ คืออะไร
     สมาธิ คือ อารมณ์จิตมีความฉลาดตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน 40 ตั้งมั่นอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร อันใดอันหนึ่งใน 40 อย่างนั้น

2. จิตตั้งมั่น หมายความว่าอย่างไร
    หมายความว่า มีสติความรู้อยู่ตลอดเวลากับลมหายใจเข้าออก โดยที่จิตไม่วอกแวกไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่นๆ นอกจากรู้ลมหายใจเข้าออก หรือกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วเวลาใดเวลาหนึ่ง เรียกว่า มีสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวไม่ส่ายไปส่ายมา

3. อะไรเป็นลักษณะ อะไรเป็นรส อะไรเป็นอาการปรากฏ และอะไรเป็นผลของสมาธิ

ตอบ ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะของสมาธิ
         ความมีพลังจิตเป็นหนึ่ง เป็นรสของสมาธิ
         ความไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัว เป็นอาการปรากฏของสมาธิ
         ความสุข สงบ สดชื่น เป็นผลของสมาธิ

4. สมาธิมีกี่อย่าง
สมาธิมี 2 อย่าง คือ
1. มิจฉาสมาธิ สมาธิฝ่ายดำ ฝ่ายทำลายล้างกัน ฝ่ายเพิ่มทุกข์ ไสยศาสตร์เป็นต้น เป็นฝ่ายไม่ฉลาดมีอวิชชา ตัณหา อุปทาน ตายไปจิตก็ไปรับโทษทุกข์ทรมานในนรก
2. สัมมาสมาธิ สมาธิฝ่ายขาว ฝ่ายฉลาด ฝ่ายเมตตา คือพุทธศาสตร์ ฝ่ายเข้ากระแส

นิพพาน ฝ่ายเพิ่มความสุขกาย ใจเป็นบุญกุศล มีหลายแบบคือ
     1. ขนิกสมาธิ
     2. อุปจารสมาธิ 
     3. อัปปนาสมาธิ (ฌาณ)
     4. โลกุตตระสมาธิ(ญาณ)

อารมณ์สมาธิแบ่งตามระดับขั้นองค์ฌานทั้ง 5 คือ
1. ปฐมฌาน มีอาการของจิต 5 อย่าง คือ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาสมาธิ ข้อสังเกต ลมหายใจเบาลงในเยือกเย็นสบายไม่มีความรำคาญในเสียงรอบนอก
2. ทุติยฌาน มีอาการของจิต 4 อย่าง คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาสมาธิ ลมหายใจช้าลงเบาลงมากจิตเป็นสุขชุ่มชื่นไม่ค่อยสนใจรู้ลมเข้าลมออก
3. ตติยฌาน มีอาการของจิต 3 อย่าง คือ ปีติ สุข เอกัคคตาสมาธิ สังเกตง่ายขึ้น ลมหายใจน้อยลงๆ ร่างกายคล้ายตึงเหมือนโดนมัดแน่นิ่งไม่กระดุกกระดิก อารมณ์แนบสนิท
4. จตุตถฌาน มีอาการของจิต 2 อย่าง คือ สุข เอกัคคตาสมาธิ จิตนิ่งเป็นหนึ่ง ลมหายใจละเอียดจนไม่รู้สึกว่าหายใจ จิตแยกจากกายจนไม่รู้สึกว่าหายใจ หูได้ยินเสียงข้างนอกเบามาก
5. ปัญจมฌาน มีอาการของจิต 2 อย่าง คือ อุเบกขา และจิตนิ่งเป็นหนึ่งเดียว จิตแยกจากกายไม่มีความรู้สึกทางกายเลยไม่ได้ยินเสียงจิตมีความสุขแน่นิ่ง และวางเฉย

5. อะไรเป็นความเศร้าหมองของสมาธิ
     กิเลสนิวรณ์ 5 มี กามราคะ ปฏิฆะ ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความเกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอน เป็นความเศร้าหมองของสมาธิ

6. อะไรคือความผ่องแผ้วเบิกบานของสมาธิ
     ความสุขในการเข้าใจในธรรมชาติของกาย และจิตเป็นคนละส่วนกัน เป็นคุณวิเศษทำให้จิตสะอาดฉลาดเข้าถึงกระแสพระนิพพานได้ไม่ยากเลย เป็นจิตที่อยู่ในฌานมีความสุขสดชื่น เบิกบาน

7. สมาธินั้นจะพึงเจริญภาวนาอย่างไร
  ตอบ วิธีภาวนาสมาธิ เริ่มแรกให้ตัดเครื่องกังวล 10 ประการออกจากจิตใจ
  • ไม่กังวลเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่กังวลเรื่องชาติตระกูล ไม่ห่วงใยเรื่องลาภสักการะ
  • ไม่ห่วงใยเรื่องหมู่คณะ ไม่กังวลเรื่องการงานที่ยังทำไม่เสร็จ
  • ไม่กังวลเรื่องการเดินทาง ไม่กังวลเรื่องญาติครอบครัว
  • ไม่กังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ไม่กังวลเรื่องการเล่าเรียน
  • ไม่กังวลเรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์ความดีความเด่นไม่สนใจในความสุขทางโลก เพราะเป็นของชั่วคราว
สมาธิกรรมฐาน 2 อย่าง ที่ต้องทำตลอดเวลา คืออะไรตอบ 
1. สมาธิกรรมฐานในการแผ่เมตตาตลอดเวลา แผ่ให้ตนเอง ผู้อื่นทั้งโลกทั่วจักรวาลทั่ว 3 โลก คือ นรกโลก มนุษย์โลก เทวโลก ให้มีความสุขความเจริญ
2. มรณานุสติกรรมฐาน ระลึกนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกเป็นการไม่ประมาทตามพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนไว้

จริยา หรือจริต หรืออุปนิสัยของคนมี 6 ประเภท
     1. ราคะจริต มีนิสัยรักความเป็นระเบียบงดงาม รักความสวยงาม
     2. โทสะจริต เป็นคนมีนิสัยโมโหหงุดหงิดง่ายชอบทำอะไรเร็วไว
     3. โมหะจริต ชอบหลงรักง่ายๆ
     4. ศรัทธาจริต เป็นคนว่าง่ายสอนง่ายเชื่อฟังง่ายไม่ดื้อ
     5. พุทธะจริต มีนิสัยอยากรู้ อยากเห็น อยากพิสูจน์ชอบค้นคว้า
     6. วิตกจริต เป็นคนชอบคิดมาก วิตกกังวลด้วยเรื่องเล็กเรื่องใหญ่เก็บมาคิดทั้งหมด

     การที่จะเรียนปฏิบัติกรรมฐาน 40 วิธี ผู้ปฏิบัติ หรืออาจารย์ผู้สอนศิษย์ควรจะรู้อารมณ์อุปนิสัยของตนเอง หรือลูกศิษย์เสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจว่ามีจริตอะไรมากกว่าจริตอื่นๆ ใน 6 จริต ก็ให้เรียนพระกรรมฐาน แบบกลางๆ เหมาะกับอุปนิสัยจริตทุกอย่าง เรื่องกรรมฐานกับจริตมีความสำคัญมาก ถ้าไปปฏิบัติไม่ถูกจริตจะไม่ก้าวหน้าทางธรรม ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางพระนิพพานช้ามาก คือ ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

กรรมฐาน ๔๐
แบ่งเป็น 7 หมวดคือ
1. กสิณกรรมฐาน      10 อย่าง
2. อสุภกรรมฐาน       10 อย่าง
3. อนุสสติกรรมฐาน  10 อย่าง
4. พรหมวิหารกรรมฐาน 4 อย่าง
5. อรูปกรรมฐาน         4 อย่าง
6. อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อย่าง
7. จตุธาตุววัฏฐาน      1 อย่าง

รวมทั้ง 7 หมวดเป็น 40 อย่างพอดี
     นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการ หรืออารมณ์ หรือจริตอุปนิสัยของจิต เพราะเป็นผลดีมีกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละกิเลสตัณหาอุปาทานได้รวดเร็ว สมาธิก็ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณจะแจ่มใส มรรคผลนิพพานก็ปรากฏเร็วไว

หมวดกสิน ๑๐ 
เป็นการทำสมาธิด้วยวิธีการเพ่ง
     ๑. ปฐวีกสิน เพ่งธาตุดิน
     ๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
     ๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
     ๔. วาโยกสิน เพ่งลม
     ๕. นีลกสิน เพ่งสีเขียว
     ๖. ปีตกสิน เพ่งสีเหลือง
     ๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
     ๘. โอฑาตกสิณ เพ่งสีขาว
     ๙. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
     ๑๐. อากาศกสิณ เพ่งอากาศ

หมวดอสุภกรรมฐาน ๑๐ 
     เป็นการตั้งอารมณ์ไว้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยงดงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก น่าเกลียด
     ๑๑. อุทธุมาตกอสุภ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายบวมขึ้น พองไปด้วยลม ขึ้นอืด
     ๑๒. วินีลกอสุภ วีนีลกะ แปลว่า สีเขียว
เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวในที่มีผ้าคลุมไว้ ฉะนั้นตามร่างกายของผู้ตาย จึงมีสีเขียวมาก
     ๑๓. วิปุพพกอสุภกรรมฐาน เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
     ๑๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลางกาย
     ๑๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกยื้อแย่งกัดกิน
     ๑๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย มีมือ แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
     ๑๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
     ๑๘. โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
     ๑๙. ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
     ๒๐. อัฏฐิกอสุภ คือ ซากศพที่มีแต่กระดูก

อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ 
     อนุสสติ แปลว่า ตามระลึกถึง เมื่อเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะแก่จริต จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์ ตั้งมั่นได้รวดเร็ว
     ๒๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
     ๒๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
     ๒๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
     ๒๔. สีลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
     ๒๕. จาคานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงผลของการบริจาคเป็นอารมณ์
     ๒๖. เทวตานุสสติเป็นกรรมฐาน ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
     ๒๗. มรณานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
     ๒๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในจาคะจริต
     ๒๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในโมหะ และวิตกจริต
     ๓๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน ระลึกความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์

หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา
     ๓๑. อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพ่งอาหารให้เห็นเป็นของน่าเกลียด บริโภคเพื่อบำรุงร่างกาย ไม่บริโภคเพื่อสนองกิเลส

หมวดจตุธาตุววัฏฐาน

     ๓๒. จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พิจารณาร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

หมวดพรหมวิหาร ๔
     พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม พรหมแปลว่าประเสริฐ พรหมวิหาร ๔ จึงแปลว่า คุณธรรม ๔ ประการ ที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นผู้ประเสริฐ ได้แก่
     ๓๓. เมตตา คุมอารมณ์ไว้ตลอดวัน ให้มีความรัก อันเนื่องด้วยความปรารถนาดี ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกามารมณ์ เมตตาสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์
     ๓๔. กรุณา ความสงสารปรานี มีประสงค์จะสงเคราะห์แก่ทั้งคนและสัตว์
     ๓๕. มุทิตา มีจิตชื่นบาน พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่มีจิตริษยาเจือปน
     ๓๖. อุเบกขา มีอารมณ์เป็นกลางวางเฉย

หมวดอรูปฌาณ ๔
     เป็นการปล่อยอารมณ์ ไม่ยึดถืออะไร มีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุขประณีต ในฌานที่ได้ ผู้จะเจริญอรูปฌาณ ๔ ต้องเจริญฌานในกสินให้ได้ฌาณ ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญอรูปฌาณจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
     ๓๗. อากาสานัญจายตนะ ถือ อากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตย่อใหญ่เล็กได้ ทรงจิตรักษาอากาศไว้ กำหนดใจว่าอากาศหาที่สุดมิได้ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
     ๓๘. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมด ต้องการจิตเท่านั้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
     ๓๙. อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรเลย อากาศไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ามีอะไรสักหน่อยหนึ่งก็เป็นเหตุของภยันตราย ไม่ยึดถืออะไรจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์
     ๔๐. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งที่มีสัญญาอยู่ก็ทำเหมือนไม่มี ไม่รับอารมณ์ใด ๆ จะหนาว ร้อนก็รู้แต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ปล่อยตามเรื่อง เปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
•••••••••

SpyLove.

3 ความคิดเห็น: